พระธาตุภูริทัต บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา

ประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทตฺตเถร

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตเถร

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตเถร เป็นบูรพาจารย์ของพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในช่วงรอยต่อในยุคกึ่งพุทธกาล อาจจะกล่าวได้ว่า ท่านได้เป็นผู้ก่อให้เกิด   วงศ์พระป่า ณ ยุคสมัยนั้น ซึ่งมีบทบาทมาถึงปัจจุบัน

หลวงปู่มั่นเกิดเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2413 ที่บ้านคำบง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อ นายคำด้วง แก่นแก้ว มารดาคือ        นางจันทร์ แก่นแก้ว เป็นพี่ชายคนโตของพี่น้อง ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 9 คน แต่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก 6 คน

ท่านเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ครั้งแรก โดยบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 15 ปี พออายุได้ 17 ปี ได้ลาสิกขาตามคำขอร้องของบิดา เพื่อไป        ช่วยงานของครอบครัวกระทั่งอายุได้ 22 ปี จึงขอบิดามารดาอุปสมบทเป็นพระภิกษุด้วยใจที่มีศรัทธา

ท่านบวชเป็นพระภิกษุที่วัดศรีทอง (ปัจจุบันคือ วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2436                 มีพระอริยกวี (อ่อน ธมฺมรกฺขิโต) เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ (ตุ้ย ญาณาสโย)      เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และเข้ารับการศึกษาทางด้านวิปัสสนาธุระ กับพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ที่วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี

ท่านเป็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ตามคำสอนของพระพุทธองค์ ผลแห่งการนั้นทำให้ท่านเจริญในธรรมมาตามลำดับ ท่านบรรลุธรรม ชั้นสูงและได้เพาะบ่มศิษยานุศิษย์ ซึ่งเจริญรอยตามไว้เป็นกำลังของพระพุทธศาสนาจำนวนมาก จนอาจกล่าวได้ว่าพระภิกษุสงฆ์ที่เป็น                 พระกัมมัฏฐาน ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน ในรุ่นหลัง ๆ นั้น ส่วนใหญ่แล้วล้วนก่อเกิดขึ้นมา        จากรากฐานที่ท่านและหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ได้วางแบบแผนไว้ทั้งสิ้น

ตามประวัติที่ท่านได้เล่าสุบินนิมิตของท่าน และพิจารณาสุบินนิมิตนั้น ได้ความว่าท่านจะสำเร็จ ปฏิสัมภิทานุศาสน์ คือฉลาดรู้ในเทศนาวิธีและ อุบายทรมาน แนะนำสั่งสอนสานุศิษย์ให้เข้าใจพระธรรมวินัยและอุบายฝึกฝนจิตใจ

ท่านสามารถกำหนดรู้จิต นิสัย วาสนา ของคนอื่นและเทวดา เป็นต้น หรือ ที่เรียกว่า ไตรวิธญาณ และใช้ปรีชาญาณนื้อบรมสั่งสอนสานุศิษย์ด้วยอุบายวิธีต่างๆ ทำให้ศิษย์จำนวนมากบรรลุถึงความเป็น สุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ญายปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน

ในช่วงที่ท่านยังแข็งแรงได้ออกธุดงค์หลีกเร้นไปบำเพ็ญเพียรตามป่าตามเขาต่างๆ ทั้งภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคเหนือ บางแห่งก็เป็นป่าดง  พงลึกยากที่จะติดตามไปได้ ก่อนเข้าช่วงปัจฉิมสมัย ท่านวิเวกอยู่ทางภาคเหนือเป็นเวลาถึง 11 ปี แล้วจึงกลับมาจำพรรษาอยู่ในภาคอีสาน         ตามคำอาราธนาของคณะศิษยานุศิษย์ในปี พ.ศ. 2483 กระทั่งถึงปี พ.ศ. 2487 จึงย้ายมาพำนัก ณ เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน      อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร และเป็นช่วงที่ท่านได้อบรมสั่งสอนศิษย์ทางสมถวิปัสสนา เป็นอันมาก ได้มีการเทศนาอบรมจิตใจสานุศิษย์ เป็นประจำวัน ศิษย์ผู้ใกล้ชิดได้บันทึกธรรมของท่านไว้ และได้มีการรวบรวมพิมพ์ขึ้นเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง โดยให้ชื่อว่า มุตโตทัย

กระทั่งในปี พ.ศ. 2492 ซึ่งเป็นปีที่ท่านอายุ 80 ปี เริ่มมีอาการอาพาธ คณะศิษย์ได้ทำการรักษาพยาบาลท่านเต็มกำลังความสามารถ จนกระทั่ง    ได้นำท่านมาพำนักที่เสนาสนะป่าบ้านภู่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เพื่อสะดวกแก่ผู้รักษาและคณะศิษย์ที่จะมาเยี่ยมพยาบาล และ          ได้นำท่านมาพำนักที่วัดป่าสุทธาวาส เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน กระทั่งท่านได้ละขันธ์ไปด้วยอาการสงบที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 เวลา 02.23 น. ปวงศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ได้หลั่งไหลมาร่วมงานถวายเพลิงศพท่านจำนวนมาก และได้ร่วมกันสร้างอุโบสถขึ้น ณ บริเวณที่ตั้งเมรุถวายเพลิงศพที่วัดป่าสุทธาวาส เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้แก่อนุชนรุ่นหลัง ต่อมาได้            มีการสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ภายในวัดป่าสุทธาวาสนั้น เพื่อเก็บรักษาอัฐบริขารและอัฐิของท่าน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นพระธาตุอย่างน่าอัศจรรย์    ไว้ให้สาธุชนได้สักการะ และเป็นวัตถุพยานประกาศสัจจะแห่งคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า ธรรมะนั้น อกาลิโก คือไม่จำกัดกาล ผู้ที่ปฏิบัติดี   ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ไม่ว่ายุคใดสมัยใด ย่อมล่วงเข้าสู่มรรคผลนิพพานได้โดยไม่จํากัดกาลเวลา

อ้างอิง ที่มา : หนังสือ รําลึกวันวาน ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร
อนุสรณ์พิพิธภัณฑ์ฉันทกรานุสรณ์ วัดป่าอัมพโรปัญญาวนาราม ในพระสังฆราชูปถัมภ์ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมพรมหาเถร)             สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 999 หมู่ 9 บ้านหนองกลางดอน ตำบลคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี

0 Comments

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *